ภาพรวมตลาด
ดัชนี Nikkei 225 ได้รับแรงกดดันทั้งปัจจัยพื้นฐานในประเทศและความเสี่ยงจากภายนอก โดยล่าสุดกิจกรรมในภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.3 ในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นอัตราการหดตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 1 ปี ในขณะเดียวกัน ภาคบริการซึ่งเคยเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจ เริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน โดย PMI ภาคบริการปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.5 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ค่าดัชนีนี้เข้าสู่ภาวะหดตัว ปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซา และความกังวลต่อราคาสินค้าและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์ของภาคครัวเรือนก็ยังคงเปราะบาง โดยข้อมูลในเดือนมกราคมระบุว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนลดลง 4.5% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รายได้ต่อครัวเรือนลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแล้วก็ตาม สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอยู่ในระดับอ่อนแอ แม้ผลการเจรจาค่าจ้างในปี 2025 จะออกมาในเชิงบวก โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5.46% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี แต่ในอีกด้านหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูงที่ 3% และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนจับตาคือความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในอัตรา 25% เริ่มต้นเดือนเมษายน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นและ GDP โดยรวมแม้ว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์จะเติบโต 11.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และส่วนใหญ่เป็นผลจากการเร่งส่งออกก่อนมาตรการภาษีจะมีผลบังคับใช้ มากกว่าจะสะท้อนถึงอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
JP225
ในกรอบเวลา 4 ชั่วโมง (H4) ดัชนี Japan 225 กำลังเผชิญแรงเทขายรุนแรงจนราคาหลุดกรอบแนวรับสำคัญและเปลี่ยนมาเป็นขาลงอย่างชัดเจน โดยล่าสุด ราคาสามารถทะลุกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงลงมาได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงแรงขายที่มีอิทธิพลในตลาดเป็นอย่างมากและมีแนวโน้มจะกดดันให้ดัชนีปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะถัดไป จากสัญญาณเชิงเทคนิค พบว่าค่า RSI ปรับตัวลงสู่ระดับที่ต่ำมากที่ 14.02 แสดงถึงโมเมนตัมขาลงที่แข็งแกร่งมากในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน MACD ก็ปรับตัวลงมาต่ำกว่าเส้นศูนย์อย่างชัดเจน สะท้อนว่าแรงขายได้เข้าครอบงำตลาดไปเรียบร้อยแล้ว และน่าจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะสั้น สำหรับแนวรับที่มีนัยสำคัญในขณะนี้อยู่ที่บริเวณ 34,959 จุด ในขณะที่แนวต้านที่นักลงทุนควรจับตามองไว้คือบริเวณ 38,120 จุด
JP225,H4