ภาพรวมตลาด
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2025 คู่เงิน USDCHF ได้รับแรงหนุนจากทิศทางนโยบายการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ที่เริ่มเอนเอียงไปทางผ่อนคลายมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ที่ยังคงรักษาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไว้ได้ แม้จะเผชิญกับความผันผวนในตลาดเงินเป็นระยะ ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันค่าเงินฟรังก์ให้อ่อนค่าลงคือ การที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือเพียง 0.25% ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับเป็นการปรับลดครั้งที่ 5 ติดต่อกันตั้งแต่มีนาคม 2024 ส่งผลให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ กับสวิตเซอร์แลนด์กว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกลายเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนทิศทางขาขึ้นของ USDCHF ในช่วงที่ผ่านมา
แม้เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์โดยรวมยังคงมีเสถียรภาพในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและบริการ แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อกลับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เพียง 0.3% ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ SNB อย่างชัดเจน ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า GDP ไตรมาส 4 ปี 2024 ขยายตัว 2.4% ซึ่งดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจแม้อยู่ในช่วงชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้ง ตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแรง จึงช่วยลดแรงกดดันต่อการเร่งปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ในแง่มุมของจิตวิทยาตลาด นักลงทุนเริ่มมีท่าทีลดน้ำหนักการถือครองเงินฟรังก์ แม้ว่าดัชนี KOF จะยังชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสวิสมีความแข็งแกร่งในหลายภาคส่วน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของ UBS-CFA กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยแตะระดับ -10.7 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่แดนลบครั้งแรกในรอบสามเดือน สะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะภายใต้สภาพแวดล้อมที่ธนาคารกลางกำลังคลายมาตรการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อพิจารณาความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงิน ความเชื่อมั่นของตลาด และพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับสวิตเซอร์แลนด์แล้ว แนวโน้มของ USDCHF ยังคงเอียงไปทางขาขึ้น แม้จะมีแรงพักตัวเป็นระยะจากความผันผวนของดัชนีดอลลาร์ในตลาดโลกก็ตาม
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
USDCHF
คู่เงิน USDCHF ในกรอบเวลา 4 ชั่วโมง (H4) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบสะสมแคบๆ ซึ่งลากยาวมาหลายสัปดาห์ โดยมีลักษณะการสะสมกำลัง (accumulation phase) ภายในกรอบราคาสีแดง หากราคาสามารถทะลุกรอบดังกล่าวขึ้นไปได้ จะถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้นในภาพระยะสั้นถึงกลางได้อย่างชัดเจน ในด้านของตัวชี้วัดโมเมนตัม ค่า RSI ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 59.24 ซึ่งอยู่ใกล้โซนเหนือระดับ 60 และหากปรับขึ้นต่อเนื่องจะยิ่งยืนยันโมเมนตัมเชิงบวกที่กำลังก่อตัวขึ้น ขณะที่ MACD แม้ยังอยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์เล็กน้อย แต่เส้น MACD และเส้นสัญญาณเริ่มมีการหันหัวเข้าหากัน พร้อมกับแถบฮิสโตแกรมที่มีลักษณะลดลงในฝั่งลบ บ่งบอกถึงโอกาสของ bullish crossover ที่อาจเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ถ้าราคาสามารทะลุกรอบราคาสีแดงขึ้นไปได้ ราคาก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่บริเวณ 0.89189 ในทางกลับกัน หากราคายังไม่สามารถทะลุกรอบออกไปได้ และกลับลงมาอีกรอบ แนวรับสำคัญจะอยู่ที่บริเวณ 0.87417
USDCHF,H4